กลับ
บัตเตอร์เค้ก วิธีทำบัตเตอร์เค้ก บัตเตอร์เค้กหน้าแตก

วิธีทำบัตเตอร์เค้กให้หอม อร่อย พร้อมทาน!

หมวด รู้หรือไม่

Highlight

-ทำความรู้จักกับ “บัตเตอร์เค้ก”
-ส่วนผสมที่ใช้ในการทำบัตเตอร์เค้ก
-วิธีการอบบัตเตอร์เค้ก
-วิธีการทดสอบว่าบัตเตอร์เค้กสุกได้ที่แล้วหรือยัง
-คำถามยอดฮิตในการทำบัตเตอร์เค้ก

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับคำว่า “บัตเตอร์เค้ก”กันก่อน

บัตเตอร์เค้กเป็นเนื้อเค้กชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกแบบทางการ คือ “เค้กที่มีไขมันเป็นส่วนผสมหลัก” หรือบางคนจะเรียกแบบตรงตัวเลยว่า “เค้กเนย” หรือ “บัตเตอร์เค้ก” เป็นเค้กที่มีปริมาณของไขมันสูง การขึ้นฟูของเนื้อเค้กชนิดนี้ เกิดจากผงฟูและอากาศที่ได้จากการตีเนย โดยเม็ดไขมันจะเก็บอากาศเข้าไว้เมื่อได้รับความร้อนในการอบ ผงฟูจะให้ก๊าซและฟองอากาศจะขยายตัว ทำให้เนื้อเค้กขึ้นฟู

เมื่อส่วนผสมหลัก ๆ ของบัตเตอร์เค้ก ก็คือเนยสด จึงทำให้เป็นบัตเตอร์เค้กเป็นเค้กที่มีรสชาติของเนยเข้มข้น มีความหอมเนยและมีความละเอียดของเนื้อเค้กมากกว่าเนื้อเค้กชนิดอื่น ๆ เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบทานเค้กที่เนื้อแน่นนิด ๆ

 

 

ส่วนผสมที่ใช้ในการทำบัตเตอร์เค้ก 

 

 

ส่วนผสมที่ใช้ในการทำบัตเตอร์เค้ก

แป้งข้าวสาลี

เป็นส่วนผสมที่ให้โครงสร้างของเค้ก ควรใช้แป้งสาลีโปรตีนต่ำประมาณ 7-9% และควรเป็นแป้งสาลีที่ผ่านการฟอกคลอรีนมาแล้ว คือ แป้งข้าวสาลีตราพัดโบก เนื่องจากบัตเตอร์เค้กเป็นเค้กที่มีปริมาณของไขมัน น้ำตาล และของเหลวในสูตรสูงจึงทำให้สามารถอุ้มส่วนผสมเหล่านี้และส่วนผสมรวมตัวเข้ากันได้ง่าย 

ไขมัน

เป็นตัวจับอากาศในเค้ก ทำให้เนื้อเค้กมีความฟู นุ่ม  นิยมใช้เป็นเนยสดเพราะจะให้กลิ่นที่หอม รสชาติดี  

น้ำตาลทราย

เป็นตัวช่วยให้เค้กมีความนุ่ม ความชุ่มชื้น รสชาติ และสี ควรใช้น้ำตาลใสที่มีเม็ดละเอียด จะได้ละลายเข้ากับส่วนผสมต่างๆได้ง่าย

นม

เป็นตัวช่วยให้เกิดโครงสร้าง ความหอมมัน ความชื้น กลิ่น รสชาติ สีและเพิ่มคุณค่าทางอาหาร  นมที่ใช้เช่น นมผง นมสด และนมข้นจืด

สารช่วยขึ้นฟู

เป็นตัวช่วยให้เนื้อเค้กขึ้นฟู เช่น ผงฟู  

 

ิธีการอบบัตเตอร์เค้

 

เมื่อเรารู้จักส่วนผสมต่าง ๆ ในการทำบัตเตอร์เค้กกันแล้ว ก็มารู้จักวิธีการอบบัตเตอร์เค้กกัน

การอบบัตเตอร์เค้ก นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งหลาย ๆ คนก็คงจะเจอกันกับตัวเองแล้วว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะอบแล้วเค้กออกมาโดนใจ ทั้งรูปทรงที่สวยงาม เนื้อเค้กที่มีความละเอียดและสีเหลืองทอง ซึ่งในการอบบัตเตอร์เค้กแต่ละครั้งก็จะออกมาไม่ครบองค์ที่อยากได้ เรามาทำความเข้าใจในการอบบัตเตอร์เค้กกันดีกว่า

สิ่งแรกในการอบบัตเตอร์เค้กเลยคือ ตัวคุณ คนที่เป็นคนอบต้องใจเย็น ๆ เอาใจใส่ในการอบ เนื่องจากส่วนผสมของบัตเตอร์เค้ก มีเนย น้ำตาลและของเหลวในปริมาณมาก และเนื้อเค้กจะมีความหนา มีความสูง เมื่อประกอบรวมกันทั้งหมดแล้ว เลยทำให้การสุกของเนื้อเค้กเกิดขึ้นช้ากว่าเนื้อเค้กชนิดอื่นๆ

ต่อมาคือ เตาอบ คนอบบัตเตอร์เค้กต้องรู้ใจเตาอบขนมของตัวเอง เพราะเตาอบแต่ละตัวจะมีนิสัยของเตาที่ไม่เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ตั้งอุณหภูมิเท่ากันแต่ความร้อนในเตาไม่เท่ากัน อาจจะต้องมีการนำเทอร์โมมิเตอร์เข้าไปวัดบ้าง และภายในเตาอบก็มีตำแหน่งการเกิดสีที่ไม่เหมือนกัน ต้องมีการเลือกในการวางตำแหน่งในการอบให้ดี

บางเตาอบเป็นขดลวดความร้อน พอถึงภูมิที่ตั้งไว้ก็มีการตัดไฟ พออุณหภูมิตกลงจากที่ตั้งไว้ก็ค่อยทำงานต่อ วนไปเรื่อย ๆ จึงทำให้บัตเตอร์เค้กอบสุกไม่ตรงตามเวลา ซึ่งถ้าเราไม่ทำการเช็คสุกก่อนนำขนมออกจากเตาก็จะทำให้เนื้อเค้กของเราไม่สุกได้ ถ้าเราเข้าใจเรื่องต่างๆแล้วก็มาเริ่มอบเค้กกัน

เทคนิคการอบบัตเตอร์เค้ก

 

เปิดเตาอบ ตั้งอุณหภูมิของเตาอบประมาณ 150°ซ-180°ซ  เปิดไฟล่างอย่างเดียวจนกระทั่งได้อุณหภูมิคงที่ก่อน จึงนำบัตเตอร์เค้กเข้าเตาอบ ตั้งนาฬิกาจับเวลาตามที่สูตรกำหนด จากนั้นตั้งตารอคอย ดูการอบผ่านกระจกเตา ห้ามเปิดประตูเตาอบบ่อย ๆ  เพราะการเปิดเตาอบบ่อยๆครั้งเกินไป เป็นการทำให้อุณหภูมิในเตาอบต่ำลง ทำให้ต้องใช้เวลาในการอบนานขึ้น 

ดูอย่างไรว่าบัตเตอร์เค้กเราสุกแล้ว? 

 

วิธีการทดสอบว่าบัตเตอร์เค้กสุกได้ที่แล้วหรือยัง 
  เมื่อบัตเตอร์เค้กครบกำหนดเวลาในการอบแล้ว อย่าเพิ่งทำการเคลื่อนย้ายเค้กทันทีต้องทำการเช็คสุกก่อน เริ่มจาก
1. ดูผ่านกระจกเตา สังเกตที่หน้าของบัตเตอร์เค้ก  จากที่ขณะอบเนื้อเค้กค่อยๆฟูขึ้นจนถึงที่สุดแล้ว จะหดตัวหน้าเรียบลงมา หน้าเค้กจะแห้งไม่มีพรายน้ำเล็ก เกาะอยู่บนหน้าเค้ก
2. เปิดประตูเตาอบช้า ๆ  ใช้นิ้วมือแตะกึ่งกลางบนหน้าเค้กเบา   ถ้าเค้กสุกจะรู้สึกถึงความแห้งและเนื้อเค้กจะสปริงคืนตัวทันที
3. เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเนื้อเค้กข้างในสุกจริง ๆ  ให้ใช้ไม้ปลายแหลม เช่น ไม้จิ้มฟัน หรือไม้จิ้มลูกชิ้นเล็ก ๆ จิ้มลงไปให้ลึกที่กึ่งกลางหน้าเค้ก  เมื่อดึงไม้ขึ้นมา ถ้าไม้แห้งไม่มีเศษเนื้อเค้กแฉะ ๆ ติดขึ้นมา แสดงว่าบัตเตอร์เค้กของเราสุกแล้วนำออกจากเตาได้
   หมายเหตุ ในบางครั้งเมื่อเราใช้นิ้วแตะกึ่งกลางหน้าเค้กแล้วยังรู้สึกถึงความชื้น  เนื้อเค้กยังไม่สปริงคืนตัว  แต่ส่วนอื่นๆเกิดสีแล้ว เราสามารถเปิดไฟบนแล้วอบต่อไปอีกเล็กน้อยเพื่อให้หน้าเค้กแห้งและสุก   ทำไมถึงต้องเช็คสุกบริเวณกึ่งกลางหน้าเค้ก เพราะเป็นส่วนที่สุกยากสุด 

 คำถามยอดฮิตในการทำบัตเตอร์เค้ก 

 

  • อบบัตเตอร์เค้กแล้วทำไมหน้าแตก หน้าไม่เรียบ สาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัย ดังนี้ 

    1.
    รูปร่างของพิมพ์ที่ใช้ในการอบ พิมพ์กลมหรือพิมพ์สี่เหลี่ยมหน้ากว้าง  หน้าเค้กจะไม่ค่อยแตก เพราะหน้าพิมพ์กว้าง เวลาที่เนื้อเค้กขึ้นฟูขณะอบจะมีเนื้อที่ในการขยายตัวได้ดี ขอบพิมพ์ก็สูงสามารถรองรับการขึ้นฟูได้
    พิมพ์โลฟหรือพิมพ์สี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้าแคบก้นทรงสอบ พิมพ์ลักษณะนี้ เมื่ออบบัตเตอร์เค้กออกมาแล้ว หน้าเค้กจะมีการปริหรือแตกตามยาวของพิมพ์ได้ง่าย เพราะพิมพ์มีพื้นที่ในการขยายตัวด้านข้างได้น้อย เนื้อเค้กจะดันตัวขึ้นด้านบนจึงทำให้เกิดการปริหรือหน้าแตกขึ้น
    2. อุณหภูมิแรงเกินกว่าที่กำหนด
    3. ใส่เนื้อเค้กในพิมพ์มากเกินปริมาณที่กำหนด
    ปริมาณเนื้อเค้กที่ใส่ใน   
    พิมพ์กลมขนาด 1 ปอนด์ (เส้นผ่านศูนย์กลาง6นิ้ว) ใส่เนื้อเค้กประมาณ 300 กรัม
    พิมพ์กลมขนาด 2 ปอนด์ (เส้นผ่านศูนย์กลาง8นิ้ว) ใส่เนื้อเค้กประมาณ 600 กรัม
    หรือใส่ปริมาณของเนื้อเค้กให้น้อยลง ไม่เกิน1/2พิมพ์ และใช้พิมพ์ที่ก้นไม่สอบเข้ามามากเกินไปก็พอจะช่วยได้

  • อยากได้เนื้อเค้กที่ละเอียดหน้าเนียน ทำอย่างไรดี?
    1. ควบคุมอุณหภูมิในเตาอบ  ต้องไม่ต่ำมากจนเกินไป ให้ความร้อนคงที่ขณะอบ
    2. เนยสดที่ใช้ควรเป็นเนยสดแช่เย็น หั่นเป็นชิ้นบางเล็กๆ ไม่ใช้เนยสดที่แช่แข็ง เพราะเวลาที่ตีเนยสดให้ อ่อนตัว จะได้เนื้อเนยสดที่เนียนไม่เป็นเม็ด ๆ แข็ง ๆ
          – เม็ดเนยสดเล็กๆที่เกิดขึ้นในการผสมที่ไม่เนียนจะทำให้เกิดเป็นรูหรือโพรงในเนื้อเค้ก
  • แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เนยสดที่ใช้ตีอ่อนตัวแล้ว ใช้พายยางตักส่วนผสมขึ้นมาแล้วใช้นิ้วจิ้ม ๆ ดู จะไม่รู้สึกถึงเม็ดเนยที่แข็ง ๆ อยู่  แต่ถ้ามีเม็ดเนยแข็งอยู่ ให้ปาดอ่างผสมแล้วตีต่อด้วยความเร็วต่ำให้เนยเนียนขึ้น 
  • เวลาตีเนยให้ฟูให้ใช้ความเร็วปานกลางของเครื่องผสมตีจนขึ้นฟู ถ้าเป็นวิธีการผสมแบบขั้นตอนเดียว ให้ตีตามเวลาที่กำหนด เพราะถ้าเราตีนานเกินไปเนื้อเค้กก็จะหยาบ 
  • เมื่อเราผสมส่วนผสมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนอบให้กระแทกพิมพ์เพื่อไล่ฟองอากาศ แต่ถ้าฟองอากาศออกไม่หมด   มีฟองใหญ่ ๆ เหลืออยู่ ไม่ต้องกระแทกพิมพ์ให้แรงขึ้นจนพิมพ์บุบนะ ให้ใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มไล่ฟองอากาศออก แต่อย่านานมากนะเพราะในส่วนผสมมีผงฟูอยู่ ผมฟูก็จะผลิตแก๊สออกมาเรื่อย ๆ เอาแค่ฟองใหญ่ ๆ ออกก็พอ 
  • ถ้าเตาอบใครมีพัดลม ให้ปิดพัดลมด้วย  เพราะพัดลมบางเครื่องจะแรงทำให้หน้าเค้กเอียงหรือเป็นลอนเกลียวคลื่น และหน้าเค้กเกิดเร็ว  จนบางครั้งเนื้อเค้กด้านในยังไม่สุก 
  • แต่ถ้าปิดพัดลมไม่ได้ก็ต้องมีการบังลม โดยใช้อลูมิเนียมฟอยล์บังลมด้านที่มีพัดลมเป่า ก็พอจะช่วยได้ หรืออาจต้องลดอุณหภูมิลงจากเดิมเล็กน้อยเพราะเวลาพัดลมเป่าจะเกิดการสะสมความร้อนอยู่ในเตาทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงจากเดิม 
  • บัตเตอร์เค้กเป็นเค้กชิ้นใหญ่เนื้อหนา ใช้ไฟล่างอบเป็นเวลานานเพื่อให้เนื้อเค้กข้างในสุก บางครั้งเนื้อเค้กแห้งเมื่ออบสุก อาจช่วยได้โดยการอบแบบรองน้ำ คือการใส่น้ำลงในถาดให้สูงท่วมเนื้อเค้กด้านล่างประมาณ 1 เซนติเมตร 

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเป็นมือใหม่ในการหัดทำบัตเตอร์เค้กหรือคนที่ทำแล้วมีปัญหาจะได้รับความรู้ต่างๆและความเข้าใจในการทำบัตเตอร์เค้กได้ดีขึ้น 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจอยากเรียนทำขนมและเบเกอรี่ ตั้งแต่การปูทฤษฎีและพื้นฐาน สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่
https://page.line.me/970tkxnr

ขอขอบคุณสาระดีๆ จาก คณาจารย์ผู้มีประสบการณ์จากโรงเรียนสอนทำขนมอบและอาหาร ยูเอฟเอ็ม

กูรูเอฟ

ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงด้านอาหาร รู้ลึก รู้จริง พร้อมตอบทุกคำถาม