วิธีทำบัตเตอร์เค้กให้หอม อร่อย พร้อมทาน!
หมวด รู้หรือไม่
Highlight
-ทำความรู้จักกับ “บัตเตอร์เค้ก”
-ส่วนผสมที่ใช้ในการทำบัตเตอร์เค้ก
-วิธีการอบบัตเตอร์เค้ก
-วิธีการทดสอบว่าบัตเตอร์เค้กสุกได้ที่แล้วหรือยัง
-คำถามยอดฮิตในการทำบัตเตอร์เค้ก
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับคำว่า “บัตเตอร์เค้ก”กันก่อน
บัตเตอร์เค้กเป็นเนื้อเค้กชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกแบบทางการ คือ “เค้กที่มีไขมันเป็นส่วนผสมหลัก” หรือบางคนจะเรียกแบบตรงตัวเลยว่า “เค้กเนย” หรือ “บัตเตอร์เค้ก” เป็นเค้กที่มีปริมาณของไขมันสูง การขึ้นฟูของเนื้อเค้กชนิดนี้ เกิดจากผงฟูและอากาศที่ได้จากการตีเนย โดยเม็ดไขมันจะเก็บอากาศเข้าไว้เมื่อได้รับความร้อนในการอบ ผงฟูจะให้ก๊าซและฟองอากาศจะขยายตัว ทำให้เนื้อเค้กขึ้นฟู
เมื่อส่วนผสมหลัก ๆ ของบัตเตอร์เค้ก ก็คือเนยสด จึงทำให้เป็นบัตเตอร์เค้กเป็นเค้กที่มีรสชาติของเนยเข้มข้น มีความหอมเนยและมีความละเอียดของเนื้อเค้กมากกว่าเนื้อเค้กชนิดอื่น ๆ เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบทานเค้กที่เนื้อแน่นนิด ๆ
ส่วนผสมที่ใช้ในการทำบัตเตอร์เค้ก
|
ส่วนผสมที่ใช้ในการทำบัตเตอร์เค้ก |
แป้งข้าวสาลี |
เป็นส่วนผสมที่ให้โครงสร้างของเค้ก ควรใช้แป้งสาลีโปรตีนต่ำประมาณ 7-9% และควรเป็นแป้งสาลีที่ผ่านการฟอกคลอรีนมาแล้ว คือ แป้งข้าวสาลีตราพัดโบก เนื่องจากบัตเตอร์เค้กเป็นเค้กที่มีปริมาณของไขมัน น้ำตาล และของเหลวในสูตรสูงจึงทำให้สามารถอุ้มส่วนผสมเหล่านี้และส่วนผสมรวมตัวเข้ากันได้ง่าย |
ไขมัน |
เป็นตัวจับอากาศในเค้ก ทำให้เนื้อเค้กมีความฟู นุ่ม นิยมใช้เป็นเนยสดเพราะจะให้กลิ่นที่หอม รสชาติดี |
น้ำตาลทราย |
เป็นตัวช่วยให้เค้กมีความนุ่ม ความชุ่มชื้น รสชาติ และสี ควรใช้น้ำตาลใสที่มีเม็ดละเอียด จะได้ละลายเข้ากับส่วนผสมต่างๆได้ง่าย |
นม |
เป็นตัวช่วยให้เกิดโครงสร้าง ความหอมมัน ความชื้น กลิ่น รสชาติ สีและเพิ่มคุณค่าทางอาหาร นมที่ใช้เช่น นมผง นมสด และนมข้นจืด |
สารช่วยขึ้นฟู |
เป็นตัวช่วยให้เนื้อเค้กขึ้นฟู เช่น ผงฟู |
วิธีการอบบัตเตอร์เค้ก
เมื่อเรารู้จักส่วนผสมต่าง ๆ ในการทำบัตเตอร์เค้กกันแล้ว ก็มารู้จักวิธีการอบบัตเตอร์เค้กกัน
การอบบัตเตอร์เค้ก นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งหลาย ๆ คนก็คงจะเจอกันกับตัวเองแล้วว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะอบแล้วเค้กออกมาโดนใจ ทั้งรูปทรงที่สวยงาม เนื้อเค้กที่มีความละเอียดและสีเหลืองทอง ซึ่งในการอบบัตเตอร์เค้กแต่ละครั้งก็จะออกมาไม่ครบองค์ที่อยากได้ เรามาทำความเข้าใจในการอบบัตเตอร์เค้กกันดีกว่า
สิ่งแรกในการอบบัตเตอร์เค้กเลยคือ ตัวคุณ คนที่เป็นคนอบต้องใจเย็น ๆ เอาใจใส่ในการอบ เนื่องจากส่วนผสมของบัตเตอร์เค้ก มีเนย น้ำตาลและของเหลวในปริมาณมาก และเนื้อเค้กจะมีความหนา มีความสูง เมื่อประกอบรวมกันทั้งหมดแล้ว เลยทำให้การสุกของเนื้อเค้กเกิดขึ้นช้ากว่าเนื้อเค้กชนิดอื่นๆ
ต่อมาคือ เตาอบ คนอบบัตเตอร์เค้กต้องรู้ใจเตาอบขนมของตัวเอง เพราะเตาอบแต่ละตัวจะมีนิสัยของเตาที่ไม่เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ตั้งอุณหภูมิเท่ากันแต่ความร้อนในเตาไม่เท่ากัน อาจจะต้องมีการนำเทอร์โมมิเตอร์เข้าไปวัดบ้าง และภายในเตาอบก็มีตำแหน่งการเกิดสีที่ไม่เหมือนกัน ต้องมีการเลือกในการวางตำแหน่งในการอบให้ดี
บางเตาอบเป็นขดลวดความร้อน พอถึงภูมิที่ตั้งไว้ก็มีการตัดไฟ พออุณหภูมิตกลงจากที่ตั้งไว้ก็ค่อยทำงานต่อ วนไปเรื่อย ๆ จึงทำให้บัตเตอร์เค้กอบสุกไม่ตรงตามเวลา ซึ่งถ้าเราไม่ทำการเช็คสุกก่อนนำขนมออกจากเตาก็จะทำให้เนื้อเค้กของเราไม่สุกได้ ถ้าเราเข้าใจเรื่องต่างๆแล้วก็มาเริ่มอบเค้กกัน
เทคนิคการอบบัตเตอร์เค้ก
เปิดเตาอบ ตั้งอุณหภูมิของเตาอบประมาณ 150°ซ-180°ซ เปิดไฟล่างอย่างเดียวจนกระทั่งได้อุณหภูมิคงที่ก่อน จึงนำบัตเตอร์เค้กเข้าเตาอบ ตั้งนาฬิกาจับเวลาตามที่สูตรกำหนด จากนั้นตั้งตารอคอย ดูการอบผ่านกระจกเตา ห้ามเปิดประตูเตาอบบ่อย ๆ เพราะการเปิดเตาอบบ่อยๆครั้งเกินไป เป็นการทำให้อุณหภูมิในเตาอบต่ำลง ทำให้ต้องใช้เวลาในการอบนานขึ้น
ดูอย่างไรว่าบัตเตอร์เค้กเราสุกแล้ว?
วิธีการทดสอบว่าบัตเตอร์เค้กสุกได้ที่แล้วหรือยัง |
เมื่อบัตเตอร์เค้กครบกำหนดเวลาในการอบแล้ว อย่าเพิ่งทำการเคลื่อนย้ายเค้กทันทีต้องทำการเช็คสุกก่อน เริ่มจาก 1. ดูผ่านกระจกเตา สังเกตที่หน้าของบัตเตอร์เค้ก จากที่ขณะอบเนื้อเค้กค่อยๆฟูขึ้นจนถึงที่สุดแล้ว จะหดตัวหน้าเรียบลงมา หน้าเค้กจะแห้งไม่มีพรายน้ำเล็ก ๆ เกาะอยู่บนหน้าเค้ก 2. เปิดประตูเตาอบช้า ๆ ใช้นิ้วมือแตะกึ่งกลางบนหน้าเค้กเบา ๆ ถ้าเค้กสุกจะรู้สึกถึงความแห้งและเนื้อเค้กจะสปริงคืนตัวทันที 3. เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเนื้อเค้กข้างในสุกจริง ๆ ให้ใช้ไม้ปลายแหลม เช่น ไม้จิ้มฟัน หรือไม้จิ้มลูกชิ้นเล็ก ๆ จิ้มลงไปให้ลึกที่กึ่งกลางหน้าเค้ก เมื่อดึงไม้ขึ้นมา ถ้าไม้แห้งไม่มีเศษเนื้อเค้กแฉะ ๆ ติดขึ้นมา แสดงว่าบัตเตอร์เค้กของเราสุกแล้วนำออกจากเตาได้ หมายเหตุ ในบางครั้งเมื่อเราใช้นิ้วแตะกึ่งกลางหน้าเค้กแล้วยังรู้สึกถึงความชื้น เนื้อเค้กยังไม่สปริงคืนตัว แต่ส่วนอื่นๆเกิดสีแล้ว เราสามารถเปิดไฟบนแล้วอบต่อไปอีกเล็กน้อยเพื่อให้หน้าเค้กแห้งและสุก ทำไมถึงต้องเช็คสุกบริเวณกึ่งกลางหน้าเค้ก เพราะเป็นส่วนที่สุกยากสุด |
คำถามยอดฮิตในการทำบัตเตอร์เค้ก
- อบบัตเตอร์เค้กแล้วทำไมหน้าแตก หน้าไม่เรียบ สาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัย ดังนี้
1. รูปร่างของพิมพ์ที่ใช้ในการอบ พิมพ์กลมหรือพิมพ์สี่เหลี่ยมหน้ากว้าง หน้าเค้กจะไม่ค่อยแตก เพราะหน้าพิมพ์กว้าง เวลาที่เนื้อเค้กขึ้นฟูขณะอบจะมีเนื้อที่ในการขยายตัวได้ดี ขอบพิมพ์ก็สูงสามารถรองรับการขึ้นฟูได้
พิมพ์โลฟหรือพิมพ์สี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้าแคบก้นทรงสอบ พิมพ์ลักษณะนี้ เมื่ออบบัตเตอร์เค้กออกมาแล้ว หน้าเค้กจะมีการปริหรือแตกตามยาวของพิมพ์ได้ง่าย เพราะพิมพ์มีพื้นที่ในการขยายตัวด้านข้างได้น้อย เนื้อเค้กจะดันตัวขึ้นด้านบนจึงทำให้เกิดการปริหรือหน้าแตกขึ้น
2. อุณหภูมิแรงเกินกว่าที่กำหนด
3. ใส่เนื้อเค้กในพิมพ์มากเกินปริมาณที่กำหนด
ปริมาณเนื้อเค้กที่ใส่ใน
– พิมพ์กลมขนาด 1 ปอนด์ (เส้นผ่านศูนย์กลาง6นิ้ว) ใส่เนื้อเค้กประมาณ 300 กรัม
– พิมพ์กลมขนาด 2 ปอนด์ (เส้นผ่านศูนย์กลาง8นิ้ว) ใส่เนื้อเค้กประมาณ 600 กรัม
หรือใส่ปริมาณของเนื้อเค้กให้น้อยลง ไม่เกิน1/2พิมพ์ และใช้พิมพ์ที่ก้นไม่สอบเข้ามามากเกินไปก็พอจะช่วยได้
- อยากได้เนื้อเค้กที่ละเอียดหน้าเนียน ทำอย่างไรดี?
1. ควบคุมอุณหภูมิในเตาอบ ต้องไม่ต่ำมากจนเกินไป ให้ความร้อนคงที่ขณะอบ
2. เนยสดที่ใช้ควรเป็นเนยสดแช่เย็น หั่นเป็นชิ้นบางเล็กๆ ไม่ใช้เนยสดที่แช่แข็ง เพราะเวลาที่ตีเนยสดให้ อ่อนตัว จะได้เนื้อเนยสดที่เนียนไม่เป็นเม็ด ๆ แข็ง ๆ
– เม็ดเนยสดเล็กๆที่เกิดขึ้นในการผสมที่ไม่เนียนจะทำให้เกิดเป็นรูหรือโพรงในเนื้อเค้ก - แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เนยสดที่ใช้ตีอ่อนตัวแล้ว ใช้พายยางตักส่วนผสมขึ้นมาแล้วใช้นิ้วจิ้ม ๆ ดู จะไม่รู้สึกถึงเม็ดเนยที่แข็ง ๆ อยู่ แต่ถ้ามีเม็ดเนยแข็งอยู่ ให้ปาดอ่างผสมแล้วตีต่อด้วยความเร็วต่ำให้เนยเนียนขึ้น
- เวลาตีเนยให้ฟูให้ใช้ความเร็วปานกลางของเครื่องผสมตีจนขึ้นฟู ถ้าเป็นวิธีการผสมแบบขั้นตอนเดียว ให้ตีตามเวลาที่กำหนด เพราะถ้าเราตีนานเกินไปเนื้อเค้กก็จะหยาบ
- เมื่อเราผสมส่วนผสมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนอบให้กระแทกพิมพ์เพื่อไล่ฟองอากาศ แต่ถ้าฟองอากาศออกไม่หมด มีฟองใหญ่ ๆ เหลืออยู่ ไม่ต้องกระแทกพิมพ์ให้แรงขึ้นจนพิมพ์บุบนะ ให้ใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มไล่ฟองอากาศออก แต่อย่านานมากนะเพราะในส่วนผสมมีผงฟูอยู่ ผมฟูก็จะผลิตแก๊สออกมาเรื่อย ๆ เอาแค่ฟองใหญ่ ๆ ออกก็พอ
- ถ้าเตาอบใครมีพัดลม ให้ปิดพัดลมด้วย เพราะพัดลมบางเครื่องจะแรงทำให้หน้าเค้กเอียงหรือเป็นลอนเกลียวคลื่น และหน้าเค้กเกิดเร็ว จนบางครั้งเนื้อเค้กด้านในยังไม่สุก
- แต่ถ้าปิดพัดลมไม่ได้ก็ต้องมีการบังลม โดยใช้อลูมิเนียมฟอยล์บังลมด้านที่มีพัดลมเป่า ก็พอจะช่วยได้ หรืออาจต้องลดอุณหภูมิลงจากเดิมเล็กน้อยเพราะเวลาพัดลมเป่าจะเกิดการสะสมความร้อนอยู่ในเตาทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงจากเดิม
- บัตเตอร์เค้กเป็นเค้กชิ้นใหญ่เนื้อหนา ใช้ไฟล่างอบเป็นเวลานานเพื่อให้เนื้อเค้กข้างในสุก บางครั้งเนื้อเค้กแห้งเมื่ออบสุก อาจช่วยได้โดยการอบแบบรองน้ำ คือการใส่น้ำลงในถาดให้สูงท่วมเนื้อเค้กด้านล่างประมาณ 1 เซนติเมตร
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเป็นมือใหม่ในการหัดทำบัตเตอร์เค้กหรือคนที่ทำแล้วมีปัญหาจะได้รับความรู้ต่างๆและความเข้าใจในการทำบัตเตอร์เค้กได้ดีขึ้น
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจอยากเรียนทำขนมและเบเกอรี่ ตั้งแต่การปูทฤษฎีและพื้นฐาน สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่
https://page.line.me/970tkxnr
ขอขอบคุณสาระดีๆ จาก คณาจารย์ผู้มีประสบการณ์จากโรงเรียนสอนทำขนมอบและอาหาร ยูเอฟเอ็ม
กูรูเอฟ
ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงด้านอาหาร รู้ลึก รู้จริง พร้อมตอบทุกคำถาม