แป้งสาลีกับคุกกี้ โดย แม่สลิ่ม
- หมวด มือใหม่หัดทำเบเกอรี่
Highlight
– ประเภทของคุกกี้
– เจาะลึกส่วนผสมในคุกกี้
– วัตถุดิบอะไรทำให้คุกกี้นิ่มกับคุกกี้กรอบต่างกัน
– เทคนิคและขั้นตอนส่งผลต่อการทำคุกกี้อย่างไร
– ปัญหาที่มือใหม่มักพบในการทำเบเกอรี่
มาต่อกันในตอนที่ 2 ตอนนี้จะมาพูดถึง คุกกี้ คุกกี้มาจากคำในภาษาดัตช์ koekje แปลว่า “เค้กชิ้นเล็ก ๆ” การทำคุกกี้เริ่มจากการแบ่งส่วนผสมของเค้กที่ยังไม่ได้อบไปทดลองอบในเตาอบเพื่อทดสอบอุณหภูมิว่าเหมาะสมไหม จากนั้นการทำคุกกี้ก็พัฒนาเรื่อยมาในหลากหลายรูปแบบ
ในประเทศอเมริกาและแคนาดา เรียก “คุกกี้” (cookie) แต่ในประเทศอังกฤษเรียก “บิสกิต” (biscuit)
ประเภทของคุกกี้
หากเราจะแบ่งประเภทของคุกกี้นั้นจะได้มากมาย ขึ้นกับว่าจะแบ่งในลักษณะไหน ตามลักษณะของส่วนผสมที่ใช้ทำ ตามลักษณะของสัมผัสตอนรับประทาน หรือตามลักษณะของการขึ้นรูปในขณะทำ ถ้าเราเข้าใจและจำแนกประเภทของคุกกี้ได้ เราก็จะเข้าใจในคุกกี้ที่ทำมากขึ้น ส่งผลให้เราทำคุกกี้ได้ออกมาสวยงามและมีสัมผัสที่ดี
จะขอเขียนให้เข้าใจง่าย ๆ ขึ้นตามนี้ คุกกี้ที่พบและนิยมมากในไทยหากแบ่งตามสัมผัสตอนรับประทานจะแบ่งได้เป็นคุกกี้กรอบและคุกกี้นิ่ม การที่คุกกี้จะกรอบหรือนิ่มนั้นปัจจัยที่เป็นสาเหตุหลักคือความชื้นในคุกกี้ ถ้าความชื้นในคุกกี้เหลือน้อยก็เป็นคุกกี้กรอบ แต่หากความชื้นในคุกกี้หลงเหลือมากก็เป็นคุกกี้นิ่ม
เจาะลึกส่วนผสมในคุกกี้
ความชื้นในคุกกี้มาจากไหน ความชื้นในคุกกี้มาจากส่วนผสมในการทำคุกกี้นั่นเอง ส่วนผสมหลักในการทำคุกกี้แทบทุกชนิด คือ แป้งสาลี น้ำตาล ไข่ไก่ และเนย แต่ละส่วนส่งผลกับคุกกี้ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจเบื้องต้นกัน
- แป้ง
- แป้งเค้ก เช่น แป้งพัดโบก มีกลูเต็นน้อย ทำให้ได้คุกกี้เนื้อกรอบ ฟู เบา
- แป้งสาลีอเนกประสงค์ เช่น แป้งว่าว มีกลูเต็นมากกว่าแป้งเค้ก ดูดซึมของเหลวได้ดี ทำให้คุกกี้หนึบ
- น้ำตาล
- น้ำตาลทรายขาว เป็นเกล็ดแข็ง มีผลทำให้คุกกี้กรอบและร่วน
- น้ำตาลทรายแดง มีความชื้นสูง มีผลทำให้คุกกี้นุ่ม ชุ่มฉ่ำ
- เนยเป็นไขมันหลักในการทำคุกกี้
- การตีเนยกับน้ำตาลทรายขาว จะเกิดจับอากาศเข้าไปในขณะที่ตี ถ้าตีไม่เกินระดับในการทำคุกกี้จะได้คุกกี้ที่โปร่ง กรอบ เบา ในทางตรงกันข้ามถ้าตีเกินระดับจนไม่หลงเหลืออากาศในเนยเลย ก็จะได้คุกกี้ที่แน่นและกระด้าง
- แต่หากเราเอาเนยไปละลายแล้วนำมาผสมกับส่วนผสมอื่น ผลคือจะได้คุกกี้ที่นิ่มและชุ่มฉ่ำ
- ไข่ไก่
- ในการทำคุกกี้นิยมใช้ไข่ไก่ทั้งฟอง ไข่ไก่เป็นตัวประสานส่วนผสมต่าง ๆ ให้เกาะตัวกันดี ไข่ขาวจะช่วยให้คุกกี้กรอบ แต่ไข่แดงจะทำให้คุกกี้เข้มข้น เสริมรสชาติเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุกกี้กรอบหรือคุกกี้นิ่มโดยมากจะใส่ไข่ไก่ เว้นเสียแต่ว่าเป็นสูตรที่ไม่ใส่
วัตถุดิบอะไรทำให้คุกกี้นิ่มกับคุกกี้กรอบต่างกัน
แป้งอเนกประสงค์ (แป้งว่าว) มักเป็นแป้งหลักในการทำคุกกี้ ไม่ว่าจะเป็นคุกกี้กรอบหรือคุกกี้นิ่ม แต่ในคุกกี้กรอบบางสูตรอาจมีการใช้แป้งขนมปัง (แป้งห่าน) เข้าไปผสมด้วยเพื่อรูปร่างที่สวยงาม ลดความร่วนลง โดยเฉพาะในคุกกี้ที่ผสมโดห์แล้วปั้นเป็นแท่งกลมหรือแท่งเหลี่ยมที่มีลักษณะคล้ายแท่งหมูยอ แล้วนำไปแช่เย็นให้เซ็ทตัวพอประมาณ แล้วนำมาตัดให้หนาประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร แล้วนำเข้าอบ การใช้แป้งขนมปังช่วยเพื่อให้มีรูปร่างที่อยู่ตัว สวยงาม ไม่บิดเบี้ยว
ในขณะเดียวกัน การทำคุกกี้นิ่มบางสูตรอาจมีการผสมแป้งเค้ก (แป้งพัดโบก) ลงไปบางส่วน เพื่อให้สัมผัสของคุกกี้ตอนที่อบมาแล้วเป็นไปตามความต้องการของเจ้าของสูตร คือ ไม่ให้กระด้างเกินไป มีความนุ่ม แต่ก็ต้องอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมพอดี
เทคนิคและขั้นตอนส่งผลต่อการทำคุกกี้อย่างไร
ในการทำคุกกี้โดยส่วนมาก วิธีการมักไม่ต่างกัน คือ เริ่มต้นตีเนยกับน้ำตาลก่อน พอให้ฟู แล้วจึงใส่ไข่ ใส่แป้งสาลี ใส่ส่วนเสริมเพิ่มเติมต่าง ๆ แล้วจึงหยุดเครื่องตี
สำหรับเนยในการทำคุกกี้นั้น แนะนำให้หั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า ขนาดประมาณด้านละ 1.5 เซนติเมตร ไม่ควรใหญ่กว่านี้มาก เพื่อเป็นการถนอมอุปกรณ์ที่เราใช้ด้วย ลักษณะเนยในการทำคุกกี้ที่ดี คือ เย็นแต่นิ่ม เราจะสังเกตได้อย่างไร คือ เอานิ้วกดไปที่เนยจะต้องมีรอยยุบตามนิ้วมือที่กดลงไปบ้าง แต่ไม่ใช่เละไปเลย และเมื่อนำไปตีด้วยความเร็วปานกลาง เนยต้องไม่กระเด็นกระดอนมาก ถ้ากระเด็กกระดอนมาก แสดงว่าเนยนั้นแข็งไป ควรทิ้งไว้สักครู่ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเริ่มตีแค่ 1-2 นาที เนยเหลว ไม่อยู่ตัวโดยไม่ทันฟู แสดงว่าเนยนิ่มไป จะไม่จับอากาศ ก็จะได้คุกกี้ที่สัมผัสแน่น กระด้าง แนะนำว่าให้เอาโถเนยนั้นไปใช่ตู้เย็นไว้ก่อนสักพัก แล้วจึงนำมาตีใหม่เพื่อผลที่ดี
- คุกกี้กรอบบางสูตรมีการใส่เนยขาวเข้าไปผสมด้วย ใส่เนยขาวเพื่ออะไร เพื่อให้คุกกี้กรอบทนมากขึ้น และเมื่อผสมเนยขาวจะทำให้คุกกี้กรอบเบามากขึ้นด้วย แต่ก็ควรเลือกเนยขาวที่คุณภาพดี เนยขาวมีทั้งสำหรับใช้ในการทำเบเกอรี่และทอด ควรเลือกใช้ให้ถูกกับงาน
- ในการทำคุกกี้นิ่ม บางสูตรใช้เนยละลายแทนการตีเนย ซึ่งเป็นเทคนิคการทำของแต่ละสูตร และในการทำขายในสูตรที่มีพวกถั่วต่าง ๆ หลายร้านมักใช้วิธีแยกพวกถั่วไว้ต่างหาก ไม่ผสมลงไปตอนตีโดห์ แต่ใช้วิธีนับเม็ดหรือชั่งตวงเพื่อความเท่ากัน อันนี้เป็นเทคนิคที่ใช้ในหลายร้าน
- การตีเนยกับน้ำตาลในการทำคุกกี้ เป็นขั้นตอนที่ส่งผลถึงรูปร่างของคุกกี้ที่ออกมามาก เป็นขั้นตอนที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก คุกกี้สูตรเดียวกันแต่ตีเนยในระดับที่ต่างกัน มีผลทำให้คุกกี้ออกมาคนละแบบคนละรูปร่างกันเลย สำหรับผู้เขียนมักเริ่มต้นตีเนยพอกระจายตัว แล้วใส่น้ำตาลลงไปเลยทั้งน้ำตาลทรายและน้ำตาลทรายแดง จากนั้นตีต่อไปแล้วสังเกตดู สีของครีมต้องอ่อนลงนิดนึง ครีมยังอยู่ตัวดีแต่ฟูขึ้นมาบ้าง แต่ไม่ถึงกับเบามากเหมือนทำบัตเตอร์ครีมหรือทำเค้กเนย ให้ตีให้ฟูก่อนถึงระดับทำเค้กเนย แล้วจึงใส่ไข่ กรณีที่ตีน้อยเกินไป ครีมฟูน้อยไปก็อาจจะได้คุกกี้ที่แน่น อบแล้วกระด้าง ในทางตรงกันข้ามถ้าตีเนยกับน้ำตาลมากไปจนครีมค่อนข้างไปทางเหลว เวลาอบคุกกี้อาจแผ่บาน แบน ๆ รูปทรงไม่สวย และสัมผัสร่วนจนร่วงกราว
ขนาดของเม็ดน้ำตาลก็ส่งผลถึงสัมผัสของคุกกี้เช่นกัน น้ำตาลทรายบางยี่ห้อเม็ดใหญ่ บางยี่ห้อเม็ดเล็ก หากน้ำตาลทรายเม็ดใหญ่มีผลทำให้น้ำตาลทรายละลายไม่หมดได้ เวลาอบอาจหลงเหลือเป็นเม็ด และสัมผัสของเนื้อคุกกี้จะหยาบกว่า ในคุกกี้บางสูตรใส่น้ำตาลไอซิ่งแทนน้ำตาลทราย ถ้าลองทำดูจะพบว่าคุกกี้นั้นเนื้อสัมผัสเนียนกว่า เพราะน้ำตาลไอซิ่งมีลักษณะเป็นผงละเอียดกว่าน้ำตาลทรายมาก
ไข่ไก่ในการทำคุกกี้ มีข้อควรระวังคือ ให้ดูสูตรให้ดี ระบุเบอร์ไหนให้ใช้เบอร์นั้น เพราะขนาดไข่ไก่เปลี่ยนจะมีผลต่อโดห์คุกกี้ที่ออกมา ไข่ไก่หากใช้เบอร์ใหญ่มากไปจะได้โดห์คุกกี้ที่เหลว เวลาปั้นจะเหนอะหนะมือมาก ปั้นยาก และจะได้คุกกี้ที่แบน แผ่กว้าง ไม่เป็นทรงสวยงาม
ในการใส่แป้งสาลีและของแห้งลงในคุกกี้ แนะนำให้ใส่ครั้งเดียวหลังจากที่ตีครีมกับน้ำตาลได้ที่แล้ว เพราะหากแบ่งใส่หลายครั้งจะใช้เวลาในการผสมนานมากไป จะสูญเสียฟองอากาศที่อยู่ในโดห์คุกกี้ไปเสียหมด สำหรับผู้เขียนมักใส่แป้งแล้วตีด้วยความเร็วต่ำพอเข้ากันและยังให้เห็นผงแป้งประปรายบ้าง แล้วจึงใส่เครื่องต่าง ๆ ที่ต้องการตามลงไป
ถั่วต่าง ๆ แนะนำให้อบให้สุกประมาณครึ่งทางหรือสามในสี่ทางก่อน แล้วจึงนำมาใส่ในโดห์คุกกี้ที่เราใส่แป้งไปแล้ว แล้วตีพอเข้ากัน หยุดเครื่อง แล้วจะไปปั้นหรือสคูปลงบนถาดก็แล้วแต่
ปัญหาที่มือใหม่มักพบในการทำเบเกอรี่
- สีคุกกี้เข้มไป
หลายคนมักมีปัญหาในการอบคุกกี้กันอย่างมาก คุกกี้ไม่กรอบแต่สีเข้ม ก้นของคุกกี้เข้มไป ใช่ค่ะ อุณหภูมิทั่วไปในการทำขนมอบคือ 175-180 องศาเซลเซียส หากใช้อุณหภูมินี้เมื่อสีของคุกกี้ได้แล้ว ให้นำคุกกี้ออกจากเตา แล้วลดอุณหภูมิเตาอบลงเหลือสักประมาณ 130-140 องศาเซลเซียส แล้วนำคุกกี้อบต่อประมาณ 10-15 นาที คุกกี้จะกรอบ เรียกการอบแบบสองจังหวะ หรือบางคนอาจจะเปลี่ยนจากการอบ 180 องศาเซลเซียส เป็น 150 องศาเซลเซียส แล้วขยายเวลาออกไปเป็น 20 นาที ก็ได้เช่นกัน เรียกการอบจังหวะเดียว ระยะเวลาอาจจะต่างจากนี้บ้างขึ้นกับขนาดชิ้นและความเสถียรของเตาด้วยนะคะบางคนมีถาดสีดำที่ติดมากับเตาอบแล้วใช้ถาดนั้นอบคุกกี้ ไม่แนะนำ เพราะถาดสีดำดูดความร้อนไว้มาก จะทำให้ก้นของคุกกี้สีดำ ดูเหมือนไหม้ แนะนำให้ใช้ถาดอลูมิเนียมทาเนยขาว หรือวางกระดาษรองอบก็แล้วแต่ - คุกกี้เสียทรง
ในการอบคุกกี้อย่าลืมวอร์มเตาไว้ก่อนจนไฟสถานะขึ้นแล้วจึงนำถาดคุกกี้ที่เตรียมไว้เข้าอบค่ะ เพราะหากอุณหภูมิต่ำไป ก็จะทำให้คุกกี้เสียทรง ไม่ฟู ใช้เวลาผิดไปจากที่ควร ส่งผลต่อสัมผัสของคุกกี้ได้ - คุกกี้ก้นแฉะ
เมื่ออบคุกกี้สุกและสีได้ที่ตามต้องการแล้ว นำถาดคุกกี้ออกจากเตา วางผึ่งไว้บนตะแกรงสักพัก แล้วรีบใช้อุปกรณ์แซะออกจากถาด วางผึ่งบนตะแกรงเพื่อระบายความร้อน ก้นคุกกี้จะได้ไม่ชื้น ตอนแรกที่เอาคุกกี้ออกจากเตาอบนั้น เค้าจะยังไม่เซ็ทตัว จะยังไม่กรอบแบบที่ควรจะเป็น เมื่อเค้าคลายความร้อนลง สัมผัสก็จะกรอบขึ้น การเก็บรักษาคุกกี้ที่ถูก คือ ให้อุ่นไปทางเย็นแล้วรีบแพ็คใส่ถุงหรือกล่องที่มีฝาปิด ไม่ควรรอจนเย็นสนิทเกินไป คุกกี้จะดูดความชื้นจากอากาศเข้าไปในตัวเอง ทำให้ความกรอบลดลงค่ะ
จบกันไปแล้วสำหรับตอนคุกกี้ ใครยังไม่ได้ ตอนอื่นๆ ตามไปอ่านกันได้ลิ้งด้านล่างนะคะ
แม่สลิ่ม นฤมล ทองธรรมชาติ
Facebook: Narumon Thongthammachat